Head1

ประวัติ-พระกรุวัดทัพข้าว สุโขทัย

ความรู้เกี่ยวกับพระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ กรุวัดทัพข้าวจังหวัดสุโขทัย

โดย อาจารย์...อริยะ สุพรรณเภษัช

พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ กรุวัดทัพข้าว (บางคนเรียก ทัพเข้า หรือ ทับข้าว ,ทัพข้าว)   เป็นพระที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ โดยสร้างมาก่อนพระสมเด็จวัดระฆัง ของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี   จากการได้รับความรู้จากนักนิยมพระเครื่องเนื้อผงอาวุโส เกี่ยวกับเรื่องราวของพระผงกรุวัดทัพข้าว ซึ่งท่านได้กล่าวว่าพระกรุนี้มีสามยุคด้วยกัน

ยุคแรก สร้างสมัยสุโขทัย มีอายุมากกว่า 700 ปีเป็นพระเนื้อดินผสมผงพุทธคุณเนื้อขาวสะอาดและแกร่งเป็นหิน พบเปิดกรุที่จังหวัดสุโขทัย โดยนายเต็ง ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวบ้าน ตำบลกรุงเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นผู้ไปขุดพบพระกรุนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480  พระที่พบทั้งหมดมีพิมพ์ทรงต่าง ๆ เช่น พิมพ์พระร่วงยืนปางประธานพร พิมพ์พระร่วงนั่ง พิมพ์ยืนลีลา เป็นต้น

ยุคที่สอง สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 ถึง รัชกาลที่ 5) มีอายุประมาณ 150-200 ปี เป็นพระผงพุทธคุณที่มีเนื้อหาจัดจ้านคล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆัง และมีพิมพ์ทรงมากมาย เช่น พิมพ์พระหลวงพ่อโต พระขุนแผนห้าเหลี่ยม พระขุนแผนไข่ผ่า พระสาม พระนารายณ์ทรงปืน พระร่วง ฯ โดยจัดสร้างล้อพระพิมพ์ในยุคโบราณเป็นสำคัญ พระยุคนี้สันนิษฐานกันว่าสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี น่าจะมีส่วนในการสร้าง เนื่องจากเมื่อศึกษาเนื้อหามวลสารและสภาพธรรมชาติของพระยุคนี้แล้ว พบว่าหนีไม่ออกจากสูตรการสร้างของพระสมเด็จวัดระฆัง  นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์เหล่านี้บางพิมพ์ในกรุในองค์พระยืนหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหารด้วย

ยุคที่สามสร้างสมัยรัชกาลที่6 ถึงรัชกาลที่ 9 พระยุคนี้มีการสร้างพระพิมพ์โบราณเลียนแบบพระกรุวัดทัพข้าวที่มีอยู่เดิม ผู้สร้างที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ ได้แก่ หลวงพ่ออ้าว หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว เป็นต้น พระพิมพ์ที่พบมักมีเนื้อหาอ่อนกว่าพระยุคที่สอง แต่มีบางพิมพ์ทำเลียนแบบพระกรุวัดทัพข้าวยุคเก่า เช่น พิมพ์หลวงพ่อโต พิมพ์ขุนแผน เป็นต้น พระยุคนี้ทำให้เกิดการเล่นสับสนกับพระกรุวัดทัพข้าวยุคแรกและยุคสอง ทำให้เซียนบางคนตีเหมารวมว่าพระพิมพ์กรุวัดทัพข้าวเป็นพระเก๊ไปทั้งหมด ดังนั้นการศึกษาพระกรุวัดทัพข้าวจะต้องแยกแยะระหว่างพระที่สร้างยุคเก่าและยุคใหม่ให้ออก โดยยึดสภาพธรรมชาติที่เก่าแก่และเนื้อหามวลสารจัดถึงยุคเป็นสำคัญ

สำหรับพระกรุวัดทัพข้าวที่สร้างสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ผู้รู้ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดว่ามีหลายสมมติฐานด้วยกัน
สมมติฐานแรก...สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้สร้างคือ ขรัวตาแสง วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์เอกทางกรรมฐานของสมเด็จโต ซึ่งสมเด็จโตท่านได้พบขณะที่เดินธุดงค์ผ่านจังหวัดอยุธยา ในช่วงที่ท่านปลีกวิเวกจาริกในป่าตลอดระยะเวลา 15 ปีที่รัชกาลที่ 3 ทรงครองราชย์อยู่  ซึ่งท่านอาจารย์แสงมีความเมตตาต่อสมเด็จโตได้สอนวิชาย่นระยะทางและคาถาอาคมภูตพรายไสยเวทย์ให้สมเด็จโตอย่างเต็มที่     สำหรับการสร้างพระพิมพ์ของท่านอาจารย์แสงนั้น ท่านได้สร้างพระเนื้อผงพุทธคุณตามตำรับโบราณของพระเครื่องเมืองสุโขทัย ในสมัยรัชกาลที่ 3   ท่านได้สร้างพระพิมพ์ต่าง ๆ ไว้มากมายหลายพิมพ์ทรง โดยได้นำไปบรรจุกรุไว้ในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอยุธยา พระพิมพ์ที่สร้าง ได้แก่ พระพิมพ์สมเด็จก้างปลา ที่หายากที่สุด   พระพิมพ์ที่ล้อพระพิมพ์ต่าง ๆ ในจังหวัดลพบุรี   เช่น พิมพ์ทรงนารายณ์ทรงปืน พิมพ์พระสามตรีกาย เป็นต้น พระพิมพ์ที่ล้อพระพิมพ์โบราณต่าง ๆ ในจังหวัดอยุธยา เช่น พระพิมพ์หลวงพ่อโต พระขุนแผนไข่ผ่า พระพิมพ์ขุนแผนห้าเหลี่ยม เป็นต้น   ซึ่งหลังขององค์พระนั้นจะมีสองแบบ คือ แบบหลังเรียบ   ที่จะพบในพระพิมพ์ที่บรรจุกรุไว้ที่จังหวัดอยุธยา และแบบหลังหูไห่ จะพบในพระพิมพ์ที่บรรจุกรุไว้ที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งข้อสังเกตของพระที่มีหลังพระแบบหลังหูไห่ องค์พระมักจะทำให้มีเนื้อหาหนาและมีรูสองรูไว้ข้างหลังองค์พระ ที่เรียกว่า พิมพ์ทรงหูไห่ ซึ่งพิมพ์ทรงกรุวัดทัพข้าวที่เป็นที่นิยมมากก็คือพิมพ์ทรงหลวงพ่อโตหูไห่ ซึ่งพระกรุนี้นับว่าเป็นพระผงพุทธคุณตระกูลหนึ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นพระผงที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระสมเด็จและมีเนื้อหาที่จัดจ้านเป็นอย่างมากคล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆัง เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในเนื้อหาพระสมเด็จเก็บสะสมไว้เป็นองค์ครูสำหรับการศึกษาเนื้อหามวลสารของพระสมเด็จวัดระฆัง
ซึ่งเซียนอาวุโสบางท่านกล่าวว่าพระกรุนี้สมเด็จโตอาจมีส่วนร่วมในการสร้างและปลุกเสกร่วมด้วยกับหลวงตาแสงพระอาจารย์ของท่านก็ได้เพราะท่านธุดงค์มาอยู่ร่วมกับหลวงตาแสงในระหว่างรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ทั้งยังเชื่อว่าสมเด็จโตได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมและกระบวนการสร้างพระเนื้อผงพุทธคุณตามตำรับโบราณจากแผ่นจาริกที่ได้มาจากการแตกกรุของเจดีย์โบราณในจังหวัดสุโขทัย ทำให้เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างพระสมเด็จของท่านเองในระยะต่อมา  

สมมติฐานที่สอง...เชื่อว่าผู้สร้างคือ สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี  โดยข้อมูลจากหนังสือพระสมเด็จ ที่รจนาโดยตรียัมปวาย ได้บันทึกคำพูดของ พระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ วัดระฆัง ศิษย์ของพระธรรมถาวร ซึ่งเป็นภิกษุร่วมสมัยกับสมเด็จโตและมีส่วนร่วมในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยเริ่มแรกของการสร้างพระสมเด็จนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังไม่ได้ดำริว่ารจะสร้างพระขึ้นเป็นแบบอย่างของท่านโดยเฉพาะ ดังนั้นท่านจึงได้ถ่ายทอดแบบพิมพ์ของพระเครื่องโบราณ ที่มีชื่อเสียงกิตติคุณในยุคก่อน ๆ มาเป็นแบบอย่าง เช่น แบบพระขุนแผน แบบหลังไข่ผ่า แบบพระนางพญา แบบพระกำแพงเม็ดขนุนทุ่งเศรษฐี ฯ

สมุดโบราณที่คัดลอกบันทึกของหลวงปู่คำ วัดอมรินทร์

รวมทั้งจากข้อมูลสำคัญที่บันทึกประวัติของสมเด็จโตโดยหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ เกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับสมเด็จโต และมีความใกล้ชิดกับสมเด็จโตมาก จากหนังสือสมเด็จโต ของแฉล้ม โชติช่วง และมนัส ยอแสง ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุแห่งการสร้างพระผงพุทธคุณในรูปแบบพิมพ์พระเครื่องโบราณของพระสมเด็จโตนั้นเกิดขึ้นจากนักเรียนพระธรรมวินัยจากต่างจังหวัด ที่มาศึกษาในสำนักโฆสิตาราม( วัดระฆัง) พอเรียนจบจะกลับบ้าน อยากได้ของทางวัดเอาไปฝากญาติโยมทางบ้าน   จึงได้ขออนุญาตสมเด็จโตทำพระเนื้อผงพุทธคุณเป็นพิเศษ โดยเอาพระที่มีชื่อเสียงกิตติคุณในท้องถิ่นของตนที่ติดตัวมาเพื่อปกปักคุ้มครองตัวเองระหว่างการเดินทาง เช่น พระหลวงพ่อโต พระกำแพงเม็ดขนุน พระขุนแผนห้าเหลี่ยม พระขุนแผนไข่ผ่าซีก พระซุ้มกอ พระรอด พระคง พระหูยาน พระนารายณ์ทรงปืน พระสามตรีกาย เป็นต้น โดยนำพระดังกล่าวมาเป็นแม่พิมพ์แล้วขอเนื้อผงมากดพิมพ์เอาไปฝากญาติโยมในท้องถิ่นของตนจำนวนหนึ่งไม่มากนัก    

นอกจากนี้ยังมีการบอกกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือของเซียนพระเนื้อผงรุ่นใหญ่ในวงการคนหนึ่ง โดยได้มีการอ้างถึงการค้นพบของพระพิพม์เนื้อผงพุทธคุณเนื้อหาเดียวกับพระกรุวัดทัพข้าวในองค์หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหารอีกด้วย โดยพิมพ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นพระพิมพ์สมเด็จมีทั้งแบบสามชั้น ห้าชั้น เจ็ดชั้น เก้าชั้นก็มี และยังมีพิมพ์พิเศษต่าง ๆ เช่น พิมพ์ขุนแผนห้าเหลี่ยม แบบต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งได้มีการสันนิษฐานถึงความเก่าแก่ของพระชุดนี้ว่าน่าจะถึงยุคพระสมเด็จด้วย โดยได้ลงรายการให้เช่าหาพร้อมข้อมูลไว้ในหนังสือพระชื่อดังหลายเล่ม  ทำให้พระชุดนี้มีความน่าสนใจขึ้นมากในสายตานักนิยมพระเครื่องแฟนพันธุ์แท้พระสมเด็จ

ทำให้ปัจจุบันทำให้มีการพบพระผงพุทธคุณที่เก่าแก่ล้อพระเครื่องพิมพ์โบราณมีปรากฏอยู่ในสนามพระซึ่งมีเนื้อหามวลสารและความเก่าแก่ถึงยุคแต่นักเลงพระส่วนใหญ่ยังคลุมเครือกับประวัติการสร้างและผู้ปลุกเสก   ซึ่งพระชุดนี้ได้สร้างความสนใจให้กับนักนิยมพระผงพุทธคุณเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันค่อนข้างหายากมากเพราะมีนักนิยมพระสมเด็จและเซียนจำนวนหนึ่งที่ล่วงรู้ที่มาเป็นอย่างดีแอบซุ่มเงียบเก็บพระชุดนี้เข้ากรุจนแทบไม่มีวางให้เช่าบูชาในสนามพระทั่วไปพร้อมกับตั้้งราคาไว้สูงลิบในระดับหลักหมื่นต้น ประกอบกับการที่พระชุดนี้มีมวลสารเก่าแก่และจัดจ้าน ทำให้นักซ่อมพระนิยมนำไปซ่อมพระสมเด็จ และนักปลอมพระบางคนก็นิยมนำพระกรุวัดทัพข้าวนี้ไปบดทำเป็นมวลสารสำคัญสำหรับทำพระสมเด็จปลอมในระดับสุดยอด มีผลทำให้ในปัจจุบันหาพระชุดนี้ในสนามพระทั่วไปยากยิ่งเต็มที

แต่การจะเช่าหาบูชาพระกรุวัดวัดทัพข้าวนี้   ต้องให้ความระมัดระวังพอสมควร เนื่องจาก พระกรุวัดทัพข้าวนับว่าได้รับความนิยมในกลุ่มนักสะสมสายตรงวัดระฆัง  ทำให้นักปลอมพระฝีมือดีก็ได้ทำพระกรุวัดทัพข้าวปลอมล้อเลียนพิมพ์เดิมจำนวนมาก แต่มีข้อพิรุธให้จับได้คือมีเนื้อหาและความเก่ายังไม่ถึงยุคอย่างแท้จริง รวมทั้งยังมีการสร้างพระเกจิอาจารย์ในยุคหลัง ก็ได้มีการสร้างพระเนื้อผงพุทธคุณล้อเลียนพิมพ์พระโบราณในรูปแบบเดียวกับพระกรุวัดทัพข้าวไว้หลายพิมพ์ทรง เช่น พระพิมพ์หลวงพ่อโต ของ หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว เป็นต้น   ดังนั้นถ้าจะต้องการเช่าหาบูชาพระกรุวัดทัพข้าวซักองค์ สมควรเลือกเฉพาะพระที่มีเนื้อหาจัดจ้านและเก่าถึงยุคจริง ๆ เท่านั้น หรือปรึกษากับผู้ชำนาญการด้านพระกรุวัดทัพข้าว ก็จะปลอดภัยจากพระมือผีและไม่ซื้อพระผิดยุคไปครอบครอง  

ดังนั้นสำหรับนักนิยมพระเครื่องเนื้อผงพุทธคุณทั้งหลาย สำหรับพระกรุวัดทัพข้าวนี้นับว่าเป็นพระผงพุทธคุณตระกูลหนึ่งที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะเป็นพระผงที่มีอายุเก่าแก่และมีเนื้อหาที่จัดจ้านเป็นอย่างมากคล้ายกับพระสมเด็จวัดระฆัง  เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในเนื้อหาพระสมเด็จเก็บสะสมไว้เป็นองค์ครูสำหรับการศึกษาเนื้อหามวลสารของพระสมเด็จวัดระฆังแล้ว   ยังมีความเชื่อว่าสมเด็จโตฯ มีส่วนในการสร้างอีกด้วย   เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพระชุดนี้เป็นอย่างมาก ทำให้เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าพระชุดนี้จะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมตลอดจนมีมูลค่าเช่าหาบูชาสูงส่งเป็นอย่างมากในอนาคตในฐานะพระสมเด็จพิมพ์โบราณที่จัดสร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี โดยขึ้นมาทดแทนพระสมเด็จพิมพ์นิยม ที่จัดสร้างโดยหลวงวิจารฯ ที่ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นตำนานที่หาชมกันไม่ได้อีกแล้ว นอกจากในตู้เซฟตามธนาคารของผู้มีฐานะและวาสนาเท่านั้น    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น